ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 4-8 ธันวาคม มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา” ที่โรงพยาบาลศิริราช มีข้อมูลใหม่ๆเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่น่าจะนำมาเล่าสู่กันฟัง
นพ.ปีเตอร์ บอยล์ ตัวแทนองค์การวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (International Agency for Research on Cancer : IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการทำวิจัยโรคมะเร็งกับทั่วโลก กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของประชากรโลก และผู้ป่วยมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ พบผู้ป่วยมากในประเทศกำลังพัฒนา จากเมื่อ 40 ปีที่แล้ว มักพบผู้ป่วยมะเร็งในประเทศที่พัฒนาแล้ว
จากข้อมูลพบว่าประชากรโลกในปี 2548 มีประมาณ 6,454 ล้านคน มีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ประมาณ 11 ล้านคน/ปี เสียชีวิต 7 ล้านคน/ปี และอีก 25 ล้านคน ต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคมะเร็ง ส่วนในปี 2573 หรืออีก 25 ปี คาดว่าจะมีประชากรโลกประมาณ 8,130 ล้านคน และจะมีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งรายใหม่ประมาณ 27 ล้านคน/ปี เสียชีวิต 17 ล้านคน/ปี และอีก 75 ล้านคน ต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคมะเร็ง ซึ่งสาเหตุที่มีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งมากขึ้น เกิดจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก และโลกกำลังเข้าสู่ยุคผู้สูงวัย ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในประเทศที่กำลังพัฒนามีมากขึ้น โดยเฉพาะสารก่อมะเร็งจากการพัฒนาอุตสาหกรรมการบริโภค รวมทั้งการขาดความรู้ในการป้องกันโรค การดูแลสุขภาพตนเอง
นพ.ปีเตอร์กล่าวว่า การรักษาหรือบรรเทาอาการมะเร็งด้วยการฉายรังสี ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บางรายอาจจะหายขาด แต่เครื่องมือและบุคลากรด้านนี้ยังไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา
เขาบอกด้วยว่า วิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบันก้าวไปถึงขั้นรู้แนวทางในการป้องกันโรคมะเร็ง ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งของโรคมะเร็งสามารถป้องกันได้ มะเร็งบางชนิดรักษาให้หายขาดได้ บางชนิดแม้จะไม่หายขาด แต่ก็สามารถรักษาแบบประคับประคองอาการ โดยทำให้ ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่า โรคมะเร็งสามารถรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเตมเซลล์ และไม่มีหลักฐานว่า สเตมเซลล์ทำให้เป็นมะเร็ง เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยสเตมเซลล์จำนวนน้อย.