ภาวะเจ็บแน่นหน้าอก อาจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น โรคที่เกิดจากระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหารกล้ามเนื้อหัวใจหรือหลอดเลือด แต่สาเหตุที่สำคัญ คือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อาการเจ็บแน่นหน้าอกจากภาวะหัวใจขาดเลือด จะ อาการเจ็บแน่นหน้าอกระหว่างราวนม ลิ้นปี่ คล้ายมีอะไรบีบรัดหรือกดทับ อาจร้าวไปที่คอ กราม แขนซ้ายด้านใน และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหงื่อออก ตัวเย็น เวียนศีรษะ หน้ามืด เหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ ใจสั่น อาการดังกล่าวอาจเกิดนานแค่ไม่กี่วินาที แต่เมื่อเกิดอาการจะต้องหยุดกิจกรรมต่างๆ ทันทีและพักผ่อนชั่วขณะหนึ่ง กล้ามเนื้อหัวใจจะตายในเวลาอันรวดเร็วภายใจ 6 ชั่วโมง เมื่อเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจตายเป็นบริเวณกว้างจะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน หัวใจวายเฉียบพลันและอาจเสียชีวิตในที่สุด
ภาวะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน คือ
ผู้ชายที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป
ผู้ที่มีภาวะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง
ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเครียด
ผู้ที่ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
หากพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ โอกาสที่จะเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบยิ่งสูงขึ้นตามมาด้วย
แนวทางปฏิบัติเมื่อพบผู้ป่วยหรือญาติเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก ทำได้ด้วยการมาถึงโรงพยาบาลโดยเร็ว โดยเฉพาะใน 2 ชั่วโมงแรกของการเกิดอาการจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัย และการรักษาที่รวดเร็วทันเวลา เพื่อจำกัดบริเวณกล้ามเนื้อส่วนที่ตายไปแล้วและช่วยกล้ามเนื้อส่วนที่กำลังจะตายให้กลับคืนสู่สภาพปกติ โดยการเปิดหลอดเลือดที่อุดตันให้เร็วที่สุด