วันอาทิตย์, สิงหาคม ๒๗, ๒๕๔๙

ความดันโลหิตสูง

ผลวิจัยระบุคนไทยเป็น “โรคความดันโลหิตสูง” มากขึ้น กว่า 71% สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ หัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง ตีบ แตก ตัน โรคไตวายเร็วขึ้น ชี้ไม่เคยตรวจคัดกรอง ความดันโลหิต และขาดความรู้ ความเข้าใจในการควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปกติ น่าวิตกช่วงอายุที่เกิดโรคลดลงต่ำเรื่อยๆ อนาคตคาดอายุแค่ 40 ปี ไม่แก้พฤติกรรมกินอยู่ โรคร้ายรุมเร้า

การสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 3 โดยสํานักงานการสํารวจสภาวะสุขภาพอนามัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่า คนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้โรคความดันโลหิตสูงเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตและนำไปสู่โรคร้ายอื่นๆ อีกมากมาย

พญ.ฉายศรี สุพรศิลป์ชัย ผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า สถานการณ์การเกิดโรคของคนไทยในปัจจุบัน มีภาระเป็นโรคไม่ติดต่อมากขึ้น เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพฤกษ์อัมพาต โรคไตวาย เป็นต้น โดยโรคเหล่านี้มักเกิดจากไม่รู้จักพฤติกรรมเสี่ยงและมีพฤติกรรมการกิน การอยู่ที่ละเลยเรื่องสุขภาพ พฤติกรรมเหล่านี้จะถูกสะสมไว้จนในที่สุดโรคร้ายก็จะระเบิดออกมา

ที่ผ่านมาเราจึงพบผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อส่วนใหญ่ในคนวัยทำงานตอนปลายและเกษียณอายุ แต่ในอนาคตอายุของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อจะลดลง จากที่เคยพบในช่วงอายุ 50-60 ขึ้นไป จะลดลงเป็น 40 ปี หรืออาจต่ำกว่านั้น เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น คือ ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่มักไม่ได้รับความสนใจในการควบคุม แต่เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ เหล่านี้และทำให้เกิดในเวลาที่เร็วขึ้นด้วย

พญ.ฉายศรี กล่าวอีกว่า โรคภาวะความดันโลหิตสูงที่เกิดขึ้น นับเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวไม่ต่างจากบุหรี่ เนื่องจากเป็นภาวะเสี่ยงและโรคที่ไม่แสดงอาการแต่จะเป็นปัจจัยเสียงให้เกิดโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน โรคหัวใจขาดเลือด โรคไตวาย โรคหัวใจล้มเหลวเป็นต้น ในอดีตโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ไม่ค่อยพบในคนไทย คิดเป็น 5% ของประชากรทั้งหมด ในปี 2532 แต่การสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทย ในปี 2546-2547 พบมีประชากรเป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 22.1% และเริ่มพบในวัยรุ่น วันทำงานตอนต้นเพิ่มมากขึ้น สาเหตุที่มีภาวะความดันโลหิตสูง เกิดจากพฤติกรรมการกินของคนไทยที่เปลี่ยนไป โดยมักกินอาหารที่มีรสเค็มขึ้น ขณะที่มีส่วนประกอบของผัก ผลไม้น้อย และพฤติกรรมการอยู่ แบบนั่งๆ นอนๆ ไม่ออกกำลังกาย ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนที่เพิ่มขึ้น และมีความเครียดเรื้อรัง ประกอบกับการหาความเสี่ยงเข้าตัว บริโภคแอลกอฮอล์ปริมาณสูงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพฤติกรรมของคนเมืองทั้งสิ้น

“ภาวะของโรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่มีความดันโลหิต 120/80 mmHg (มิลลิเมตรปรอท) โดยผู้ที่มีระดับความดันโลหิต 120/80-139/89 mmHg จัดเป็นภาวะความดันโลหิตค่อนข้างสูง และผู้ที่มีความดันโลหิต 140/90mmHg ขึ้นไป จัดเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องตระหนักและเห็นความจำเป็นต้องควบคุมให้ความดันลดลง หากไม่มีการควบคุมจะทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ถูกทำลายไม่ว่าจะเป็นสมอง หัวใจ ไต เป็นต้น ทั้งยังมีโอกาสเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หัวใจล้มเหลว หัวใจขาดเลือด และในระยะยาวจะทำให้ความจำเสื่อม ทั้งนี้ กลุ่มคนที่มีภาวะความดันสูงกว่าปกติเล็กน้อย คือ สูงกว่า 120/80 mmHg ที่ยังไม่ถือว่าเป็นโรค แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆร่วมด้วย อาทิ ไขมันสูง สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เครียด จะมีโอกาสเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตง่ายขึ้น 40-50% ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ความดันสูงกว่าปกติเล็กน้อยมักไม่รู้ตัวและไม่ให้ความสำคัญในการควบคุม รวมทั้งยังมีพฤติกรรมเสี่ยงอยู่ คนกลุ่มนี้จึงเป็นเหมือนระเบิดเวลาของโรคไม่ติดต่อที่จะแสดงอาหารออกมาในอนาคตอันใกล้”พญ.ฉายศรีกล่าว

นพ.เกษม เวชสุทธานนท์ ผู้ดูแลแผนงานการสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัย เผยว่า ในการสำรวจครั้งนี้ นอกจากพบว่า ประชาชนไทยจะมีภาวะความดันโลหิตสูงขึ้นแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ กว่า71.4% ไม่เคยรับการตรวจวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูง จึงทำให้ไม่ได้รับการรักษา และไม่ได้รับข้อมูลคำแนะนำเกี่ยวกับความดันโลหิตสูงที่ถูกต้อง ทำให้ขาดโอกาสในการป้องกัน และทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อต่างๆ มากขึ้น

นพ.เกษม แนะแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตสูงเกินกว่าปกติ ดังนี้ 1.เลี่ยงอาหารรสจัด ลดการบริโภคเกลือ เพิ่มการรับประทานผักผลไม้ 2.คุมน้ำหนัก โดยชายควรมีรอบเอวไม่เกิน 36 นิ้ว และผู้หญิงไม่เกิน 32 นิ้ว 3. ออกกำลังกายด้วยวิธีการหายใจ ให้เกิดการผ่อนคลายทางจิต และให้ระบบเลือดไหลเวียนดี 4. ลดความเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 5. ลดการบริโภคแอลกอฮอล์

พญ.ฉายศรี กล่าวเสริมว่า จากสถิติการสำรวจชี้ว่าคนเมืองส่วนใหญ่มักมีความดันโลหิตสูง ยิ่งไปกว่านั้นคนชนบทที่ย้ายเข้าสู่เมืองจะมีโอกาสที่ความดันจะเพิ่มสูงขึ้นภายใน 2 ปี แสดงให้เห็นว่า สิ่งแวดล้อมในเองมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการเกิดโรค เพราะตัวที่กำหนดพฤติกรรมต่างๆ ของเรา ดังนั้นสิ่งสำคัญที่อยากฝากให้คนเมืองปฏิบัติ คือ การจัดการเวลา เพื่อให้ลดความเร่งรีบ และลดความเครียดของตัวเอง และต้องปฏิบัติตามหลักควบคุมความดัน ลดเค็ม เพิ่มผัก ลดแอลกอฮอล์ คุมน้ำหนัก จำกัดความเครียด รู้ความดันของตัวเอง

ไม่มีความคิดเห็น: