วันพุธ, สิงหาคม ๑๖, ๒๕๔๙

วิตามินเอ

วิตามินเอ ประกอบด้วยสารเรตินอลและแคโรทีน เรตินอลมักพบในอาหารที่มาจากสัตว์เท่านั้น เช่น เนื้อสัตว์ นม เนย ไข่ ตับ น้ำมันตับปลา เรตินอลจะช่วยให้ร่างกายใช้วิตามินเอได้ทันที ส่วนรูปแบบของวิตามินเอที่พบในพืชจะเรียกว่า เบต้าแคโรทีน ซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกาย พบมากในผักและผลไม้ที่มีสีเหลือง ส้ม แสด แดง เช่น แครอท ฟักทอง มะละกอสุก และผักใบเขียวเข้ม เช่น ตำลึง ผักบุ้ง กวางตุ้ง บร็อคโคลี่

วิตามินเอทนกรด ด่าง และความร้อนได้ดีพอสมควร ในการประกอบอาหาร เช่นการทำอาหารกระป๋อง วิตามินเอจะถูกทำลายไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่การแช่แข็งอาจลดปริมาณวิตามินเอในอาหาร

วิตามินเอเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ ได้แก่

- ช่วยในการมองเห็นในที่มืด

- ช่วยบำรุงรักษาเซลล์ชนิดบุผิวให้ชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา เช่น เยื่อบุตาขาว เยื่อบุทางเดินหายใจ เยื่อบุทางเดินอาหาร เยื่อบุทางเดินปัสสาวะ และเยื่อบุหูชั้นกลาง เป็นต้น

- ช่วยในการสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง

- ช่วยให้ระบบสืบพันธุ์ทำงานได้ตามปกติ เช่น การสร้างตัวอสุจิในผู้ชายและระบบประจำเดือนของผู้หญิง และจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

- ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง

- เบต้าแคโรทีนทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง และความผิดปกติของไขมันในร่างกาย ซึ่งทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว

แต่เดิม วิตามินเอมีหน่วยเป็นหน่วยสากล (International Units หรือ IU) ต่อมาได้กำหนดหน่วยวิตามินเอเป็น Retinal Equivalents (RE) อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์วิตามินเอบางชนิดก็ยังใช้หน่วย IU เหมือนเดิม

คนทั่วไปต้องการวิตามินเอวันละประมาณ 800-1,000 RE แต่ภาวะบางอย่างอาจทำให้ร่างกายต้องการวิตามินเอเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะท้องร่วง โรคตา โรคลำไส้ การติดเชื้อเป็นเวลานาน โรคหัด โรคตับอ่อน การผ่าตัดเอากระเพาะอาหารออกบางส่วน ความเครียดแบบต่อเนื่อง การรับประทานยาคุมกำเนิด ทารกที่ได้รับนมชนิดที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น

ผลของการขาดวิตามินเอ

การขาดวิตามินเออาจนำไปสู่ภาวะตาบอดกลางคืน หรือปัญหาการมองเห็นในที่มืด รวมทั้งทำให้ตาแห้ง ตาติดเชื้อ
ผิวหนังจะแห้ง หนาขึ้น และหยาบเป็นเกล็ด ผมและขนจะแห้งและร่วง เล็บเปราะ นอกจากนี้จะทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ชนิดบุผิวของอวัยวะต่าง ๆ เช่น

- ระบบทางเดินหายใจ อาจมีการอักเสบในช่องจมูก ช่องปาก ต่อมน้ำลาย เจ็บคอบ่อยๆ หูอักเสบ การอักเสบเหล่านี้จะเป็นๆ หายๆ เพราะเยื่อบุอวัยวะเหล่านี้แห้งตายหรือสลายตัว ทำให้เกิดการติดเชื้อโรคได้ง่าย

- ระบบทางเดินอาหาร อาจทำให้ปาก คอ ลิ้น และเหงือกอักเสบ เป็นแผลที่กระเพาะอาหารและลำไส้ได้ง่าย อาจมีอาการท้องร่วง
- ระบบปัสสาวะ มักมีการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ เกิดปฏิกิริยาทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนเป็นด่าง ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดนิ่วในไตและกระเพาะปัสสาวะ

การขาดวิตามินเอยังทำให้การเจริญเติบโตช้าลง กระดูกจะหนา ใหญ่ และหมดสมรรถภาพในการโค้งงอ ส่วนฟันนั้นจะมีการลอกหลุดของเคลือบฟัน เหลือแต่เนื้อฟัน ทำให้ฟันผุได้ง่าย
นอกจากนี้ยังเจ็บป่วยง่ายเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันโรคต่ำ ง่ายต่อการแพ้สิ่งต่างๆ เบื่ออาหาร ความรู้สึกรับรสและกลิ่นไม่ดี

ผลของการได้รับวิตามินเอมากเกินไป

โดยปกติแล้ว วิตามินเอมักจะไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงใดๆ เมื่อใช้ตามปริมาณที่แนะนำ อย่างไรก็ตาม การได้รับวิตามินเอในปริมาณสูงอาจเกิดการสะสมในร่างกายและเป็นพิษได้ใน 2 ลักษณะ คือ

- พิษเฉียบพลัน เกิดขึ้นเมื่อได้รับในปริมาณสูงมากๆ เช่น รับประทานตั้งแต่ 1 ล้านหน่วยหรือมากกว่า อาการสำคัญคือปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง ง่วงนอน อ่อนเพลีย มองเห็นภาพซ้อน กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน ถ้าได้รับวิตามินเอในปริมาณที่สูงกว่านี้มากๆ อาจถึงแก่ความตายได้ เพราะระบบหัวใจไม่ทำงาน

- พิษเรื้อรัง เกิดจากการรับประทานวิตามินเอวันละประมาณ 1 แสนหน่วยเป็นเวลานาน มักพบในคนไข้โรคผิวหนังที่ได้รับการรักษาด้วยวิตามินเอปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน อาการสำคัญ คือ เวียนศีรษะ ผิวหนังหยาบกร้าน เป็นขุย และคัน ผมร่วง เล็บเปราะ ริมผีปากแห้งแตก เหงือกอักเสบ ปวดข้อกระดูกและข้อต่อ หากหยุดรับประทานวิตามินในปริมาณมากๆ อาการก็จะหายไป

หญิงตั้งครรภ์ที่รับประทานวิตามินเอในปริมาณสูงถึงวันละ 25,000 IU (7,500 RE) เป็นเวลานาน อาจทำให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ พิการ หรือแท้งได้

ผู้ที่ได้รับแคโรทีนในปริมาณสูง จะทำให้ผิวหนังบริเวณร่องจมูก ฝ่ามือและฝ่าเท้ามีสีเหลือง เนื่องจากแคโรทีนถูกขับออกมาจากต่อมน้ำมันของผิวหนัง ต่างจากโรคดีซ่านคือตาจะไม่เหลือง อาการดังกล่าวจะหายไป เมื่องดบริโภคอาหารที่มีแคโรทีนสูง

ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ เป็นโรคติดสุราหรือเคยมีประวัติ เป็นโรคตับ โรคไต หรือรับประทานยาประจำตัว หากจะรับประทานอาหารเสริมวิตามินเอ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะการใช้วิตามินเออาจมีผลต่อโรคที่เป็นอยู่

วิตามินเอถูกทำลายได้ง่ายเมื่อได้รับความร้อนสูงมากๆ ในอากาศ แสงแดด และในไขมันที่เหม็นหืน จึงควรเก็บใส่ขวดสีน้ำตาล อย่าเก็บในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างจานในครัว หรือบริเวณที่เปียกชื้น เพราะความร้อนหรือความชื้นอาจทำให้อาหารเสริมเสื่อมสภาพได้

ไม่มีความคิดเห็น: