วันพุธ, สิงหาคม ๑๖, ๒๕๔๙

ขจัด "กระดูกพรุน"

ล่วงเลยสู่วัยชรา อะไรๆ ที่เคยเต่งตึงกระชับรัดแน่นก็หย่อนยานเคลื่อนคล้อย เคยแข็งแกร่งก็กลับเปราะบางแตกหักง่าย ซ้ำร่างกายที่เคยตระหง่านตั้งตรงก็กลับแพ้พ่ายต่อแรงโน้มถ่วงมากขึ้นทุกวัน ยิ่งอายุยืนยิ่งเสมือนตกเป็นเป้าโจมตีของโรคภัยร้ายแรงต่างๆ ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัวมากมาย โดยเฉพาะภาวะหลังโกงและตัวเตี้ยลงเมื่อย่างเข้าสู่วัยทองของผู้หญิงที่กลายเป็นภาพคุ้นตาไม่ใช่น้อยในสังคมไทย




ทั้งๆ ที่โรคกระดูกพรุนในผู้หญิงไทยวัยหมดประจำเดือนหลีกเลี่ยงได้ไม่ยากนัก ดังที่รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่าเพียงออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานแคลเซียมควบคู่กับได้รับวิตามินดีในปริมาณที่เหมาะสมก็จะห่างไกลโรคร้ายนี้ได้ ทว่าปัจจุบันผู้หญิงไทยกลับเผชิญภาวะกระดูกพรุนเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยพบว่าภายใน 1 ปี ประชากร 100,000 คนจะป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนมากถึง 800 คน และหากเกิดการแตกหักของกระดูกสะโพกจากการกระทบกระแทกแล้ว 1 ใน 5 จะเสียชีวิตภายในเวลาเพียง 1 ปี และแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่จะรักษาจนหายแล้วกลับมาเดินได้ดังปกติ

แม้สาเหตุหลักของโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมาจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนที่จะช่วยยับยั้งการสลายของกระดูก เกิดการสลายกระดูกไปเรื่อยๆ กระทั่งกระดูกพรุนในท้ายที่สุด นำมาสู่ภาวะกระดูกสันหลังทรุดตัวหลังจากสูญเสียแคลเซียมเป็นเวลานาน จนส่งผลให้กระดูกเปราะและแตกหักง่ายแม้เกิดอุบัติเหตุเล็กน้อย เช่น สะดุดหกล้ม ผู้ป่วยอาจต้องทนทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดและพิการไปตลอดชีวิต หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตจากการเกิดโรคอื่นๆ แทรกซ้อน

นอกจากนั้น ข้อมูลทางการแพทย์ยังระบุว่ากว่าร้อยละ 50 ของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนในหลายประเทศทั่วโลกได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่กระแสเลือด สอดคล้องกับสภาวการณ์ในประเทศไทยที่พบว่ากว่าร้อยละ 47 ของผู้หญิงวัยทองหรืออายุ 50 ปีขึ้นไปจะเป็นโรคกระดูกพรุนเนื่องมาจากได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอเช่นกัน ยิ่งในวัย 75 ปีขึ้นไปจะประสบภาวะกระดูกพรุนมากขึ้นถึงร้อยละ 60

“วิตามินดีที่ได้รับจากแสดงแดดลดน้อยลงมากในผู้หญิงปัจจุบันเพราะไลฟ์สไตล์ไม่ค่อยถูกแสงแดดมากดังก่อนอีกแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการอยู่เฉพาะในที่ร่มของผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานออฟฟิศหรืออาศัยในเมืองที่มักจะกลัวและหลีกเลี่ยงแสงแดด ทั้งการกางร่มเมื่อออกแดด สวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายมิดชิดเกินไป หรือกระทั่งทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 8 ขึ้นไป แม้จะมีประโยชน์ในการป้องกันอันตรายจากการได้รับแสงแดดมากเกินไป แต่ขณะเดียวกันกลับทำให้ร่างกายได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ” ศ.นพ.บุญส่งเผย พลางแนะว่าการหันมาออกกำลังกายกลางแจ้งบ้างเพื่อให้ได้รับวิตามินดีจากแสงแดดในปริมาณที่เพียงพอจะช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ เพราะร้อยละ 90 ของวิตามินดีในร่างกายมาจากการสร้างขึ้นของผิวหนังเมื่อทำปฏิกิริยากับรังสีอัลตราไวโอเลตชนิด B (UVB) หลังจากได้รับแสงแดด

เปรียบเทียบให้เห็นภาวะกระดูกปกติกับคนที่เป็นโรคกระดูกพรุน
ด้วยแม้จะออกกำลังกายสม่ำเสมอและรับประทานแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกายจะช่วยยับยั้งภาวะกระดูกพรุนถามหาได้ ทว่าถ้าวิตามินดีที่เป็นตัวช่วยในการดูดซึมแคลเซียมจากทางเดินอาหารในร่างกายไม่เพียงพอ ท้ายสุดก็ยังเสี่ยงต่อโรคร้ายนี้อยู่ดี

“แม้คนทั่วไปจะเข้าใจว่าเมื่อได้รับปริมาณแคลเซียมเหมาะสมจากการดื่มนมหรือรับประทานอาหารแล้ว กระดูกจะแข็งแรงและไม่เป็นโรคกระดูกพรุน แต่ความจริงไม่ใช่แค่นั้น เพราะพวกเขาไม่ตระหนักว่าการที่ร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมมาใช้ได้ดีนั้นจำเป็นต้องมีวิตามินดีอย่างเพียงพอด้วย แต่ถ้าได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอก็ไม่อาจดูดซึมแคลเซียมไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ จำเป็นต้องได้ทั้งแคลเซียมและวิตามินดีในปริมาณเหมาะสม”

นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2548 ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์จากการวิจัยโรคกระดูกพรุนในคนไทยอธิบายว่าจากเดิม 10 ปีที่แล้วการสร้างวิตามินดีจากแสงแดดไม่น่าห่วงเพราะคนไทยน้อยมากที่ขาดวิตามินดี แต่วันนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น แล้ว ด้วยพบว่าคนไทยจำนวนมากมีระดับวิตามินดีไม่เพียงพอสำหรับร่างกาย

นอกจากนั้น ในผู้ที่มีสีผิวเข้มคล้ำมากๆ ก็อาจสร้างวิตามินดีได้ไม่เพียงพอต่อร่างกาย ต่างจากผู้ที่มีผิวขาวที่จะสร้างวิตามินดีได้ดีกว่า สอดคล้องกับการศึกษาในกลุ่มคนผิวขาววัยหนุ่มสาวที่พบว่าเมื่อใส่ชุดกีฬาแขนสั้นขาสั้นออกกำลังกายกลางแจ้งโดยถูกแดดทั้งตัวแค่ 10-15 นาที ร่างกายจะได้รับวิตามินดีมากพอใช้ได้นาน 2-3 สัปดาห์

ภาวะกระดูกพรุนที่ทำให้หลังโค้งงอ
“แม้วิตามินดีส่วนใหญ่ในร่างกายจะได้จากแสงแดด แต่สำหรับผู้ที่กลัวแดดอาจรับประทานอาหารที่มีวิตามินดี เช่น ปลา หรือรับประทานวิตามินรวมที่มักมีวิตามินดีผสมอยู่วันละเม็ดก็น่าจะทดแทนได้เพียงพอแล้ว” ศ.นพ.บุญส่งเผย พลางอธิบายว่าส่วนผู้ที่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วนั้นควรรับประทานยาที่มีประสิทธิภาพดีในการรักษาควบคู่กับการได้รับปริมาณแคลเซียมและวิตามินดีที่เพียงพอ

สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคนี้ควรได้รับการตรวจวัดมวลกระดูก โดยการวัดความหนาแน่นของกระดูกจะได้รับรังสีน้อยกว่าการเอกซเรย์ปอดด้วยซ้ำ หรืออาจจะตรวจสอบด้วยตนเองคร่าวๆ ด้วยการนำน้ำหนักตัวโดยใช้หน่วยกิโลกรัมลบด้วยอายุ คูณด้วย 0.2 หากผลลัพธ์น้อยกว่า -4 แสดงว่าอยู่ในข่ายโรคกระดูกพรุนแล้ว ทั้งนี้ส่วนมากมักเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

“หากพบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว ควรระมัดระวังตัวเองมากขึ้นเพื่อป้องกันการแตกหักของกระดูก โดยเฉพาะกระดูกบริเวณสะโพกจะแตกหักง่ายแม้กระทบเพียงเล็กน้อย เพราะถึงกระดูกจะพรุนแต่ก็ไม่ก่อปัญหาถ้าไม่แตกหัก ฉะนั้นควรจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านเพื่อป้องกันการหกล้ม เช่น กระเบื้องในห้องน้ำไม่เป็นชนิดลื่นและมีราวจับมั่นคง รวมทั้งต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูกทั้งการดื่มสุราและใช้ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์” รองคณบดีฝ่ายวิจัยเผย พลางย้ำว่าการลดโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนระยะยาวนั้นต้องทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ได้รับแคลเซียมและวิตามินดีในปริมาณเหมาะสมสัมพันธ์กัน

ไม่มีความคิดเห็น: