วันอาทิตย์, มกราคม ๑๔, ๒๕๕๐

กินอยู่อย่างไรจึงจะไกลโรคมะเร็ง

จากสถิติการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ของคนไทย ยังสูงเป็นอันดับสาม รองจากโรคหัวใจ และอุบัติเหตุติดต่อกันหลายปี และมีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนาน ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์มากกว่าร้อยละ 80 เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะลุกลาม เกินกว่าจะรักษาให้หายขาดหรือรักษาได้ กลุ่มนี้ส่วนมากจะเสียชีวิต ภายในหนึ่งปี หลังการวินิจฉัยเกือบทั้งหมดจะเสียชีวิตภายใจห้าปี ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่จะมีอาการที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้น เช่น ความปวด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า น้ำหนักลด หายใจลำบาก บวมตามแขนขา มีน้ำในช่องท้อง หรือช่องปอด เป็นต้น

การป้องกันโรคมะเร็งในขั้นแรกคือ การป้องกันปฐมภูมิ โดยการหลีกเลี่ยงต่อการได้รับสารก่อมะเร็งหรือทำให้ร่างกาย มีภูมิคุ้มกันต่อการเกิดโรคมะเร็ง กำจัดสาเหตุของมะเร็ง ที่เกิดจากอาชีพและสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยต่างๆ ที่อาจให้เกิดมะเร็งได้แก่

บุหรี่ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอด มะเร็งปอดและคอ
อาหาร เครื่องดื่ม เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็ง โดยรวมได้แก่ แอลกอฮอล์ เกลือ อาหารเค็ม เนื้อแดง อาหารปิ้ง ย่าง เผา ไขมันสัตว์ สารกันบูด สารเจือปนในอาหารโรคอ้วน เป็นต้น ถ้าจำแนกโดยละเอียดจะพบ
  • อาหารเค็ม ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งกระเพาะ
  • อาหารไขมันสูง กากน้อยแอลกอฮอล์ ปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก ต่อมลูกหมาก ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน เป็นต้น
เนื้อสัตว์ แอลกอฮอล์ ปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่
บุหรี่ หมาก แอลกอฮอล์ ปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งปาก
ไวรัสบี อะฟลาท็อกซิน แอลกอฮอล์ ปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งตับ
การร่วมเพศบ่อยตั้งแต่อายุยังน้อย เปลี่ยนคู่นอนหลายคน เสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูก
สตรีที่ไม่มีลูกหรือมีลูกคนแรกอายุมาก เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม

มะเร็งที่เกิดจากอาชีพและสิ่งแวดล้อม ผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับ

สารแอสเบสโตร จะเป็นมะเร็งปอดได้ง่าย ยิ่งสูบบุหรี่ ด้วยยิ่งเสี่ยงสูง นอกจากนั้นอาจก่อให้เกิดมะเร็ง ของระบบน้ำเหลืองและไขกระดูกได้
สารไวนิลคลอไรด์ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมพลาสติกที่ใช้ สารไวนิลคลอไรด์ จะเป็นมะเร็งของตับสมองและปอดได้ง่าย โดยการหายใจ และผ่านเข้าทางผิวหนัง

สารที่พบในสี เช่น
  • เบนซิดีน เสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  • อาร์ซีนิค เสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนัง, ปอด
  • เบนซีน เสี่ยงต่อมะเร็งระบบเลือด, น้ำเหลือง

ขี้เลื่อย เสี่ยงต่อมะเร็งทางเดินหายใจ
ยาคุมกำเนิด ถ้าใช้นานๆ จะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านมได้

เชื้อโรคหลายชนิดจัดได้ว่าเป็นสารก่อมะเร็งเช่นเดียวกัน ได้แก่

ไวรัสตับอักเสบบี เสี่ยงต่อมะเร็งตับ
Ebtein Barr Virus เสี่ยงต่อมะเร็งหลังโพรงจมูก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
Human Papiloma Virus เสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูก
ติดเชื้อไวรัสโรคเอดส์ เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดเลือด (Kapoci's Sarcoma) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Non-hodgekin Lymphoma) มะเร็งปากมดลูก
พยาธิตัวสำคัญ โดยเฉพาะในประเทศไทย ได้แก่ พยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งมีชุกชุมในภาคอีสาน แทรกซึมอยู่ในก้อยปลาดิบ เป็นพยาธิที่ทำให้ก่ออัตราเสี่ยงต่อมะเร็งตับ

ส่วนด้านการโภชนาการ อันมีส่วนสำคัญที่ทำให้ร่างกาย มีภูมิคุ้มกันต่อการเกิดมะเร็ง ท่านวิทยากรได้ให้ความรู้ ในงานอบรมด้านสุขภาพอนามัยสำหรับประชาชนครั้งนี้ไว้ว่า หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารซ้ำซาก เลือกอาหารให้หลากหลายเข้าไว้ ควรรับประทานอาหารจำพวก พืช ผัก ผลไม้ ข้าว หรืออาหารที่มีเส้นใย เป็นประจำ รับประทานอาหารให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ การบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สามารถป้องกันโรคมะเร็ง บางชนิดได้จากอาหารเหล่านี้ จะเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ ใยอาหารและคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งมีผล การลดอัตราเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง

กลุ่มของสารอาหารที่ช่วยลดการเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งด้วยกัน 5 กลุ่มคือ

  1. เบต้า-แคโรทีน พบในผักและผลไม้สีเขียว หรือเหลืองเข้ม ได้แก่ มะม่วง ผักขม แครอท บรอคโคลี่ และมะเขือเทศ
  2. วิตามิน พบในพวกผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ได้แก่ สตรอเบอรี่ แตงโม ส้ม ชะเอม ฯลฯ
  3. ซิลิเนียม อยู่ในจมูกข้าว รำข้า ปลาทูน่า หัวหอม กระเทียมและเห็ด
  4. ใยอาหาร มีมากในผัก ผลไม้และพวกเมล็ดธัญพืชต่างๆ
  5. คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน พบในขนมปังธัญพืชและถั่วต่างๆ

หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง, อาหารที่มีสารก่อมะเร็ง, อาหารมีสิ่งแปลกปลอม เช่น อะฟลาท็อกซิน ยาฆ่าแมลง อาหารที่มีไนเตรต ไนเตรตผสมอยู่ หลีกเลี่ยง อาหารที่เก็บไว้นาน เพราะอาจมีการปนเปื้อนเชื้อราและพิษจากเชื้อเหล่านั้นได้ ลด อาหารเค็ม เช่น เกลือ ซอสทั้งหลาย อาหารหมักดอง อาหารกระป๋องที่ใส่เกลือมาก อาหารประเภทเนื้อปรุง เช่น แฮม เบคอน ไส้กรอก หมูยอ แหนม ซึ่งอาจมีสารเจือปนอยู่ การปรุงอาหารโดยเฉพาะเนื้อสัตว์หรือปลา โดยสัมผัสโดยตรง กับเปลวไฟ เช่น ปิ้ง ย่าง เนื้อรมควัน อย่ารับประทานบ่อยๆ

ส่วนการวินิจฉัยโรคมะเร็งได้ในระยะเริ่มต้นคือ การเอาใจใส่ระมัดระวังเกี่ยวกับอาหาร หรืออาการแสดง ถ้าวินิจฉัยได้ว่าเป็นอาการของโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้น จะช่วยให้ผลการรักษาและการมีชีวิตรอดของผู้ป่วย ได้ดีกว่าปล่อยให้เป็นมานานแล้ว ซึ่งอาจจะทำได้โดย ประชาชนรู้จักสังเกต และตรวจร่างกายตนเองอย่างง่ายๆ เช่น สังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่อาจจะเป็นอาการเตือนของโรคมะเร็ง เช่น การเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะผิดปกติ หรือเปลี่ยนไปจากเดิม กลืนอาหารลำบาก แน่นท้อง เสียงแหบ ไอเรื้อรัง มีเลือดหรือตกขาวผิดปกติออกทางช่องคลอด มีแผลเรื้อรัง มีการเปลี่ยนแปลงของหูด หรือไฝตามร่างกาย มีก้อนที่เต้านม หรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย หูอื้อ เลือดกำเดาไหล

มะเร็งร้ายยังเป็นภัยต่อประชาชนชาวไทยอยู่อีกนาน และคงจะเบียดเบียนให้เกิดโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น เพราะทุกวันนี้สิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษได้เจือปนอยู่ทั่วไป ทั้งในอาหาร ในน้ำ ในอากาศ ในอาชีพทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นกสิกร ก็ต้องสัมผัสกับปุ๋ย โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ การตรวจสุขภาพประจำปีการ การสังเกตอาการและตรวจกรองมะเร็งของแต่ละอวัยวะทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี ดูจะมีความจำเป็นเพิ่มมากขึ้น สำหรับผู้ที่รักสุขภาพ และรักที่จะป้องกันตนเองจากโรคมะเร็ง