วันพุธ, สิงหาคม ๑๖, ๒๕๔๙

ไขมันในเลือดสูง

ไขมันในเลือดสูงมีหลายชนิด แต่ที่คนเรามักรู้จักและคุ้นหูคือ โคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอร์ไรด์ และ แอล ดี แอล โคเลสเตอรรอล เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล ไขมันชนิดที่ไม่ดี ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ คือ โคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอร์ไรด์ และ แอลดี แอล โคเลสเตอรอล ส่วนเอช ดี แอล โคเลสเตอรอล เป็น ไขมันชนิดที่ดี ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

โดยทั่วไปการตรวจระดับไขมันในเลือดจะมีค่าที่รายงานเป็น 3 ชนิด คือ โคเลสเตอรอล (Cholesterol)ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) และ เอช ดี แอล หากตรวจพบโคเลสเตอรอลในเลือดสูง อาจเกิดจาก Lipoprotein ที่สูงได้ 2 ชนิด

1.ชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL) หรือไขมันชนิดที่ไม่ดี เป็นชนิดอันตรายเพราะเป็นโคเลสเตอรอลที่ไปสะสมในผนังหลอดเลือด หลอดเลือดแดงตีบและแข็ง

2.ชนิดความหนาแน่นสูง (HDL)หรือไขมันชนิดที่ดี ทำหน้าที่ขจัดไขมันอันตรายไปจากกระแสเลือดต่อต้านการสะสมผิดที่ของไขมันและโคเลสเตอรอล

ดังนั้น ถ้าพบว่าโคเลสเตอรอลสูงจะต้องแยกว่าตัวที่สูงเป็นผู้ร้าย (LDL) หรือผู้พิทักษ์ (HDL)

ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ถ้าไตรกลีเซอร์ไรด์มีปริมาณสูง ก็จะต้องควบคุมอาหารโดยควบคุมน้ำหนักตัว ลดของหวาน และแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มการใช้พลังงานและช่วยในการทำงานของหัวใจ เมื่อออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ถูกวิธี และสม่ำเสมอแล้ว ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ มักจะลดลง และสามารถเพิ่มปริมาณไขมันผู้พิทักษ์ได้ ทั้งนี้ ระดับไขมันในร่างกายที่ปกติมีค่าดังนี้ โคเลสเตอรอล ต่ำกว่า 200 มก./ดล. ไตรกลีเซอร์ไรด์ ต่ำกว่า 200 มก./ดล. และเอช ดี แอช โคเลสเตอรอลสูงกว่า 35 มก./ดล.

ไขมันได้จากไหน

ทั้งโคเลสเตอรอล และไตรกลีเซอร์ไรด์ เป็นไขมันที่ร่างกายได้มาจาก 2 ทาง คือ จากอาหารที่รับประทาน และจากการสร้างขึ้นเองในร่างกาย

อาหาร

อาหารจากพืชจะไม่มีโคเลสเตอรอล แต่อาหารที่มาจากเนื้อสัตว์จะมีโคเลสเตอรอลมากน้อยแตกต่างกัน ที่มีมาก ได้แก่ เครื่องในต่าง ๆ ไข่แดง นม เนย เนื้อติดมัน หนังสัตว์ และสัตว์ที่มีกระดอง เช่น กุ้ง หอย ปลาหมึก ปู

ส่วนไตรกลีเซอร์ไรด์จะได้จากน้ำมันและไขมันของอาหารทุกชนิด

การสร้างขึ้นเองในร่างกาย

โคเลสเตอรอลที่ร่างกายสร้างขึ้นเองโดยการเผาผลาญอาหารพวกแป้ง น้ำตาล ไขมัน และเนื้อสัตว์ อวัยวะที่ทำหน้าที่สร้างโคเลสเตอรอล คือ ตับ สารอาหารที่จะกระตุ้นการสร้างโคเลสเตอรอล ได้แก่ ไขมันอิ่มตัว เช่น น้ำมันจากสัตว์ น้ำมันมะพร้าว กะทิ

ส่วนไตรกลีเซอร์ไรด์มีทั้งที่ได้จากอาหาร และถูกสร้างขึ้นโดยตับเช่นเดียวกัน โดยจะถูกกระตุ้นให้สร้างมากขึ้นโดย แอลกอฮอล์ น้ำตาล และพลังงานที่ได้รับมากเกินไป

สาเหตุไขมันในเลือดสูง

1. ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์
2. โรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน ขาดฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์
3. จากยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ สเตียรอยด์
4. การรับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ
5. การดื่มสุราเป็นประจำ

อันตรายที่เกิดขึ้น

1. โรคหัวใจขาดเลือด ทำให้มีอาการแน่นหน้าอก โดยเฉพาะขณะออกกำลังกาย
2. อัมพาต แขนขาไม่มีแรงข้างใดข้างหนึ่ง
3. เส้นเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่พอ โดยเฉพาะบริเวณขาทำให้เดินแล้วปวดน่อง

ไขมันผู้พิทักษ์

เอช ดี แอล คอเลสเตอรอล เป็นไขมันตัวสำคัญในการป้องกันหลอดเลือดแข็ง ผู้ที่มีระดับ เอช ดี แอลต่ำ มีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือด การทำให้เอช ดี แอลเพิ่มมากขึ้นโดยออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน งดสูบบุหรี่ งดขนมหวาน

ข้อควรปฏิบัติ

1. จำกัดอาหาร และเลือกรับประทานให้เหมาะสม โดยลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และ/หรือโคเลสเตอรอล ได้แก่ เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ สัตว์ที่มีกระดองแข็ง เช่น หอยนางรม ปู ปลาหมึก น้ำมันมะพร้าว กะทิ เป็นต้น รับประทานกรดไลโนเลอิก เช่น น้ำมันพืช ที่ทำจากข้าวโพดหรือถั่วเหลือง ซึ่งกรดนี้จะช่วยลดการสร้างคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอร์ไรด์ในร่างกาย
2. งดสุรา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดบุหรี่
3. ออกกำลังกายให้เป็นประจำ
4. ควบคุมน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน
5. กินผัก ธัญพืชให้มากขึ้น

ขจัด "กระดูกพรุน"

ล่วงเลยสู่วัยชรา อะไรๆ ที่เคยเต่งตึงกระชับรัดแน่นก็หย่อนยานเคลื่อนคล้อย เคยแข็งแกร่งก็กลับเปราะบางแตกหักง่าย ซ้ำร่างกายที่เคยตระหง่านตั้งตรงก็กลับแพ้พ่ายต่อแรงโน้มถ่วงมากขึ้นทุกวัน ยิ่งอายุยืนยิ่งเสมือนตกเป็นเป้าโจมตีของโรคภัยร้ายแรงต่างๆ ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัวมากมาย โดยเฉพาะภาวะหลังโกงและตัวเตี้ยลงเมื่อย่างเข้าสู่วัยทองของผู้หญิงที่กลายเป็นภาพคุ้นตาไม่ใช่น้อยในสังคมไทย




ทั้งๆ ที่โรคกระดูกพรุนในผู้หญิงไทยวัยหมดประจำเดือนหลีกเลี่ยงได้ไม่ยากนัก ดังที่รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่าเพียงออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานแคลเซียมควบคู่กับได้รับวิตามินดีในปริมาณที่เหมาะสมก็จะห่างไกลโรคร้ายนี้ได้ ทว่าปัจจุบันผู้หญิงไทยกลับเผชิญภาวะกระดูกพรุนเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยพบว่าภายใน 1 ปี ประชากร 100,000 คนจะป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนมากถึง 800 คน และหากเกิดการแตกหักของกระดูกสะโพกจากการกระทบกระแทกแล้ว 1 ใน 5 จะเสียชีวิตภายในเวลาเพียง 1 ปี และแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่จะรักษาจนหายแล้วกลับมาเดินได้ดังปกติ

แม้สาเหตุหลักของโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมาจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนที่จะช่วยยับยั้งการสลายของกระดูก เกิดการสลายกระดูกไปเรื่อยๆ กระทั่งกระดูกพรุนในท้ายที่สุด นำมาสู่ภาวะกระดูกสันหลังทรุดตัวหลังจากสูญเสียแคลเซียมเป็นเวลานาน จนส่งผลให้กระดูกเปราะและแตกหักง่ายแม้เกิดอุบัติเหตุเล็กน้อย เช่น สะดุดหกล้ม ผู้ป่วยอาจต้องทนทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดและพิการไปตลอดชีวิต หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตจากการเกิดโรคอื่นๆ แทรกซ้อน

นอกจากนั้น ข้อมูลทางการแพทย์ยังระบุว่ากว่าร้อยละ 50 ของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนในหลายประเทศทั่วโลกได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่กระแสเลือด สอดคล้องกับสภาวการณ์ในประเทศไทยที่พบว่ากว่าร้อยละ 47 ของผู้หญิงวัยทองหรืออายุ 50 ปีขึ้นไปจะเป็นโรคกระดูกพรุนเนื่องมาจากได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอเช่นกัน ยิ่งในวัย 75 ปีขึ้นไปจะประสบภาวะกระดูกพรุนมากขึ้นถึงร้อยละ 60

“วิตามินดีที่ได้รับจากแสดงแดดลดน้อยลงมากในผู้หญิงปัจจุบันเพราะไลฟ์สไตล์ไม่ค่อยถูกแสงแดดมากดังก่อนอีกแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการอยู่เฉพาะในที่ร่มของผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานออฟฟิศหรืออาศัยในเมืองที่มักจะกลัวและหลีกเลี่ยงแสงแดด ทั้งการกางร่มเมื่อออกแดด สวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายมิดชิดเกินไป หรือกระทั่งทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 8 ขึ้นไป แม้จะมีประโยชน์ในการป้องกันอันตรายจากการได้รับแสงแดดมากเกินไป แต่ขณะเดียวกันกลับทำให้ร่างกายได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ” ศ.นพ.บุญส่งเผย พลางแนะว่าการหันมาออกกำลังกายกลางแจ้งบ้างเพื่อให้ได้รับวิตามินดีจากแสงแดดในปริมาณที่เพียงพอจะช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ เพราะร้อยละ 90 ของวิตามินดีในร่างกายมาจากการสร้างขึ้นของผิวหนังเมื่อทำปฏิกิริยากับรังสีอัลตราไวโอเลตชนิด B (UVB) หลังจากได้รับแสงแดด

เปรียบเทียบให้เห็นภาวะกระดูกปกติกับคนที่เป็นโรคกระดูกพรุน
ด้วยแม้จะออกกำลังกายสม่ำเสมอและรับประทานแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกายจะช่วยยับยั้งภาวะกระดูกพรุนถามหาได้ ทว่าถ้าวิตามินดีที่เป็นตัวช่วยในการดูดซึมแคลเซียมจากทางเดินอาหารในร่างกายไม่เพียงพอ ท้ายสุดก็ยังเสี่ยงต่อโรคร้ายนี้อยู่ดี

“แม้คนทั่วไปจะเข้าใจว่าเมื่อได้รับปริมาณแคลเซียมเหมาะสมจากการดื่มนมหรือรับประทานอาหารแล้ว กระดูกจะแข็งแรงและไม่เป็นโรคกระดูกพรุน แต่ความจริงไม่ใช่แค่นั้น เพราะพวกเขาไม่ตระหนักว่าการที่ร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมมาใช้ได้ดีนั้นจำเป็นต้องมีวิตามินดีอย่างเพียงพอด้วย แต่ถ้าได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอก็ไม่อาจดูดซึมแคลเซียมไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ จำเป็นต้องได้ทั้งแคลเซียมและวิตามินดีในปริมาณเหมาะสม”

นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2548 ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์จากการวิจัยโรคกระดูกพรุนในคนไทยอธิบายว่าจากเดิม 10 ปีที่แล้วการสร้างวิตามินดีจากแสงแดดไม่น่าห่วงเพราะคนไทยน้อยมากที่ขาดวิตามินดี แต่วันนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น แล้ว ด้วยพบว่าคนไทยจำนวนมากมีระดับวิตามินดีไม่เพียงพอสำหรับร่างกาย

นอกจากนั้น ในผู้ที่มีสีผิวเข้มคล้ำมากๆ ก็อาจสร้างวิตามินดีได้ไม่เพียงพอต่อร่างกาย ต่างจากผู้ที่มีผิวขาวที่จะสร้างวิตามินดีได้ดีกว่า สอดคล้องกับการศึกษาในกลุ่มคนผิวขาววัยหนุ่มสาวที่พบว่าเมื่อใส่ชุดกีฬาแขนสั้นขาสั้นออกกำลังกายกลางแจ้งโดยถูกแดดทั้งตัวแค่ 10-15 นาที ร่างกายจะได้รับวิตามินดีมากพอใช้ได้นาน 2-3 สัปดาห์

ภาวะกระดูกพรุนที่ทำให้หลังโค้งงอ
“แม้วิตามินดีส่วนใหญ่ในร่างกายจะได้จากแสงแดด แต่สำหรับผู้ที่กลัวแดดอาจรับประทานอาหารที่มีวิตามินดี เช่น ปลา หรือรับประทานวิตามินรวมที่มักมีวิตามินดีผสมอยู่วันละเม็ดก็น่าจะทดแทนได้เพียงพอแล้ว” ศ.นพ.บุญส่งเผย พลางอธิบายว่าส่วนผู้ที่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วนั้นควรรับประทานยาที่มีประสิทธิภาพดีในการรักษาควบคู่กับการได้รับปริมาณแคลเซียมและวิตามินดีที่เพียงพอ

สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคนี้ควรได้รับการตรวจวัดมวลกระดูก โดยการวัดความหนาแน่นของกระดูกจะได้รับรังสีน้อยกว่าการเอกซเรย์ปอดด้วยซ้ำ หรืออาจจะตรวจสอบด้วยตนเองคร่าวๆ ด้วยการนำน้ำหนักตัวโดยใช้หน่วยกิโลกรัมลบด้วยอายุ คูณด้วย 0.2 หากผลลัพธ์น้อยกว่า -4 แสดงว่าอยู่ในข่ายโรคกระดูกพรุนแล้ว ทั้งนี้ส่วนมากมักเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

“หากพบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว ควรระมัดระวังตัวเองมากขึ้นเพื่อป้องกันการแตกหักของกระดูก โดยเฉพาะกระดูกบริเวณสะโพกจะแตกหักง่ายแม้กระทบเพียงเล็กน้อย เพราะถึงกระดูกจะพรุนแต่ก็ไม่ก่อปัญหาถ้าไม่แตกหัก ฉะนั้นควรจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านเพื่อป้องกันการหกล้ม เช่น กระเบื้องในห้องน้ำไม่เป็นชนิดลื่นและมีราวจับมั่นคง รวมทั้งต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูกทั้งการดื่มสุราและใช้ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์” รองคณบดีฝ่ายวิจัยเผย พลางย้ำว่าการลดโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนระยะยาวนั้นต้องทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ได้รับแคลเซียมและวิตามินดีในปริมาณเหมาะสมสัมพันธ์กัน

สธ.แนะพบจักษุแพทย์ตรวจจอประสาทตาก่อนเห็นริบหรี่

สธ.จัดโครงการตรวจคัดกรองโรคจอประสาทตาในผู้สูงอายุถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ระบุ โรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นโรคของผู้สูงอายุ แนวโน้มคนไทยมีสิทธิเป็นโรคนี้เร็วขึ้น จากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และการอยู่กลางแดดจัด แนะตรวจพบจักษุแพทย์ตั้งแต่ไม่มีอาการ หากรักษาตั้งแต่ระยะต้นๆ จะได้ผลดีกว่า

นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดโครงการ “ผู้สูงอายุไทย ห่างไกลโรคจอประสาทตา” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันพระราชสมภพ 74 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อค้นหาโรคจอประสาทตาในผู้สูงอายุ และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไปดูแลและถนอมดวงตาด้วยตนเอง โดยในวันนี้ (11 ส.ค.) ได้ให้บริการตรวจคัดกรองจอประสาทตาผู้สูงอายุด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยฟรี พร้อมแจกแว่นตาให้ผู้สูงอายุ 300 คน

ในปีนี้ทางกระทรวงมีนโยบายให้โรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์ตรวจสายตาให้ผู้สูงอายุทุกปี และปัจจุบันมีผู้สูงอายุทั่วประเทศประมาณ 6 ล้านคน ทั้งนี้ การตรวจสายตาแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันความพิการที่จะเกิดขึ้นกับดวงตา พร้อมกันนี้ ยังสามารถสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ และให้คำแนะนำให้หลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงต่างๆ ช่วยชะลอหรือยืดความสามารถในการมองเห็นให้อยู่นานๆ

ด้าน นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุเป็นการเสื่อมบริเวณจุดรับภาพของศูนย์กลางจอประสาทตา ซึ่งเป็นบริเวณที่ทำให้มองเห็นภาพชัดที่สุด โรคนี้ยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง แม้โรคจะไม่ทำให้ตาบอดสนิท แต่ทำให้ภาพตรงกลางลดความชัดเจนลง ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตลดลง โดยไม่เกิดความเจ็บปวดต่อดวงตา

โรคจอประสาทตาเสื่อมในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่การป้องกันและรักษาระยะแรกของโรคจะได้ผลดีมาก สิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้จอประสาทตาเสื่อมที่สำคัญ ได้แก่ การสูบบุหรี่ ซึ่งบุหรี่จะทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงตาเสื่อมสภาพเร็ว เสี่ยงสายตาเสื่อมมากกว่าคนที่ไม่สูบถึง 2 เท่าตัว รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกายแข็งตัวผิดปกติ โดยดวงตาเป็นจุดที่มีเส้นเลือดไปเลี้ยงมากที่สุด ดังนั้น จึงต้องเร่งป้องกัน เนื่องจากคนไทยมีสิทธิเป็นโรคได้ก่อนอายุ 50 ปี โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานเกิน 7 ปี หากคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี มีสิทธิที่โรคจะลุกลามขึ้นจอประสาทตา พบได้ร้อยละ 50

สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การอยู่กลางแดดจัดและโดนแสงแดดจ้านานๆ ซึ่งในแสงแดดจะมีรังสีอัลตราไวโอเลต จะทำให้เนื้อเยื่อจุดรับภาพเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ดังนั้น เมื่อต้องออกแดดจ้า จึงแนะนำให้ประชาชนใส่แว่นกันแดดเพื่อป้องกันสายตาเสื่อม การป้องกันไม่ให้เกิดโรคจอประสาทเสื่อม ขอแนะนำให้ประชาชนตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ตรวจพบโรคตั้งแต่เนิ่นๆ และมีโอกาสรักษาได้ผลดี ในกลุ่มผู้สูงอายุควรมีการออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักตัว และรับประทานอาหารประเภทเนื้อปลา ช่วยให้เนื้อเยื่อประสาทตาเสื่อมช้าลง รวมทั้งการกินผักผลไม้สีต่างๆ ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระ และอาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น แกงส้ม ต้มยำน้ำใส แกงเลียง ผักต้ม จะมีผลดีต่อการไหลเวียนของเลือดในลูกตา จะช่วยชะลอการเกิดโรคได้

ท้องผูกแก้ไขได้

“ท้องผูก” ไม่ใช่อาการร้ายแรงขนาดถึงกับต้องพึ่งพาแพทย์เพื่อช่วยบำบัดรักษา แต่ก็เป็นอาการที่ก่อปัญหาให้กับคนทุกเพศทุกวัย ท้องผูกเป็นอาการที่ถ่ายยาก เนื่องจากอุจจาระแข็ง ใช้เวลานานขึ้นกว่าจะถ่ายหรือไม่ถ่ายเลยเป็นเวลาอย่างน้อย 3 วันติดต่อกัน แต่ในบางคนที่ถ่ายทุกวัน ถ้าไม่ถ่ายเลยสักวันเจ้าตัวก็คือว่าท้องผูกแล้ว

ปกติแล้วอาการท้องผูกนั้นเป็นปัญหาชั่วคราวที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทาง หรือรับประทานผักผลไม้ลดลง ดื่มน้ำน้อยลง สาเหตุเหล่านี้แก้ไขได้ไม่ยาก โดยการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น น้ำพรุนสกัด หรือลูกพรุนแห้ง มะขาม มะละกอ ส้ม เป็นต้น ในคนสูงอายุ เช่น 50 ปีขึ้นไป จะพบว่าอาการท้องผูกเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากขาดการออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวน้อยลง รับประทานอาหารที่เคี้ยวง่าย ซึ่งมีกากใยอาหารน้อยลงและดื่มน้ำน้อยลง

อาการท้องผูก ไม่เพียงแต่สร้างความอึดอัดให้กับท่านเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้สุขภาพของท่านเสื่อมตามไปด้วย เช่น โรคริดสีดวงทวาร ซึ่งพบในผู้สูงอายุถึง 50% ในจำนวนผู้ที่มีปัญหาท้องผูกเรื้อรัง และหากยิ่งปล่อยให้อาการท้องผูกรบกวนโดยไม่หาทางแก้ไข ผลที่ร้ายที่สุดที่จะตามมาถึงตัวท่านก็คือ ท่านจะเสี่ยงภัยต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ที่สามารถคร่าชีวิตท่านได้

ในรายที่มีอาการท้องผูกรุนแรงมาก จะต้องประสบกับปัญหาการถ่ายยาก เพราะในขณะที่ขับถ่ายต้องใช้แรงเบ่งมากกว่าปกติ ทำให้เส้นเลือดบริเวณรอบๆ ทวารหนักพอกตัว เมื่ออุจจาระที่แข็งตัวเคลื่อนผ่านทวารหนัก ก็จะเกิดการเสียดสี ทำให้เป็นแผลเลือดออกได้ ซึ่งจะสร้างความเจ็บปวดทรมานยิ่งนัก ทำให้ยิ่งไม่อยากถ่าย ผลที่ตามมาก็คือทำให้ท้องผูกมากยิ่งขึ้น และในที่สุดก็จะนำไปสู่โรคริดสีดวงทวาร

กลเม็ดในการแก้ไขหรือบำบัดรักษาอาการท้องผูกนั้น มีดังนี้

1.เพิ่มอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ซึ่งประกอบด้วยข้าวซ้อมมือ ถั่วต่างๆ เพิ่มผักผลไม้ต่างๆ
2.ดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนๆ หรืออาหารร้อนๆ (แต่ไม่ถึงกับลวกปาก) ในตอนเช้า เพราะอาหารร้อนจะช่วยกระตุ้นลำไส้เคลื่อนไหวตัวได้มากขึ้น
3.ดื่มน้ำสะอาดให้มากกว่าที่เคยดื่มในแต่ละวัน คือ ประมาณวันละ 6-8 แก้ว เพื่อให้กากใยอาหารที่รับประทานเข้าไปสามารถทำงานได้ดีขึ้น

วิธีการดังกล่าวนี้ นับเป็นการแก้ไขปัญหาอาการท้องผูกที่ได้ผล ปลอดภัย และยังได้สารอาหารที่มีประโยชน์จากผักผลไม้และธัญพืช แต่ข้อสำคัญการเพิ่มกากใยอาหารอย่าเพิ่มอย่างผลีผลาม ควรเพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ผักผลไม้และธัญพืชโดยทั่วไปมีเส้นใยอาหาร 2 ชนิดด้วยกัน คือ เส้นใยชนิดที่ไม่ละลายน้ำ และชนิดที่ละลายน้ำ โดยชนิดไม่ละลายน้ำจะให้ผลในการขับถ่ายและขจัดของเสียออกจากร่างกาย ขณะที่ชนิดที่ละลายน้ำมีบทบาทสำคัญในการลดคอเลสเตอรอล และการทำงานของเส้นใยอาหารจะต้องอาศัยน้ำจึงจะทำงานได้ดี

ผักและผลไม้ที่มีกากใยมากและเป็นที่รู้จักกันดีมีหลายชนิดด้วยกัน อาทิ พรุน มะขาม ส้ม มะละกอ ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักโขม ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ฯลฯ เส้นใยอาหารที่อยู่ในผักผลไม้เหล่านี้ ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ เมื่อย่อยไม่ได้ร่างกายก็จะขับถ่ายออกมาพร้อมกับของเสียอื่นๆ จึงทำให้ขับถ่ายได้สะดวก ไม่มีปัญหาของเสียคั่งค่างในร่างกาย ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขจัดสารพิษที่ตกค้างในลำไส้ออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น ป้องกันโรคลำไล้ใหญ่อักเสบ โรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่และลดปัญหากลิ่นปากจากท้องผูก เป็นต้น

ในบรรดาผลไม้ไทยและเทศที่มีกากใยสูงติด 5 อันดับแรกได้แก่ พรุน มะเดื่อแห้ง มะขามหวาน แอปเปิ้ล และส้ม สำหรับพรุนและมะขามหวานได้ชื่อว่าเป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นยาระบายตามธรรมชาติที่สามารถแก้ไขอาการท้องผูกได้ดียิ่งนัก พรุนเป็นผลไม้ที่ให้ผลทางด้านโภชนบำบัดสำหรับคนที่มีปัญหาทางระบบขับถ่าย ริดสีดวงทวารและโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคลไส้โป่ง ส่วนในเด็กเล็กที่ท้องผูกอาจใช้น้ำพรุนในอัตรา 1 ต่อ 1 ให้ดื่ม ช่วยระบายท้องให้ถ่ายสะดวกขึ้น แต่ถ้าหากเป็นน้ำพรุนสกัดที่เข้มข้นก็จะต้องเจือจางกับน้ำมากขึ้น ส่วนพรุนแห้งอาจต้องระวังในเรื่องปริมาณที่รับประทาน เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างเข้มข้น หากรับประทานมากๆ และบ่อยๆ ก็จะเพิ่มแคลอรี่ให้กับผู้ใหญ่ที่ปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวเกินได้

นอกจากการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง และดื่มน้ำมากขึ้นแล้ว ก็ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้กล้ามเนื้อในระบบย่อย และขับถ่ายทำงานดีขึ้น

สำหรับบางท่านที่มีอาการท้องผูกรุนแรงมากเป็นพิเศษที่อาจต้องใช้ยาระบายช่วย ก็ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาระบายนั้น เพราะหากมีการใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้ตกเป็นทาสยาถ่าย หรือเกิดปัญหาอื่นตามมาได้

วิตามินเอ

วิตามินเอ ประกอบด้วยสารเรตินอลและแคโรทีน เรตินอลมักพบในอาหารที่มาจากสัตว์เท่านั้น เช่น เนื้อสัตว์ นม เนย ไข่ ตับ น้ำมันตับปลา เรตินอลจะช่วยให้ร่างกายใช้วิตามินเอได้ทันที ส่วนรูปแบบของวิตามินเอที่พบในพืชจะเรียกว่า เบต้าแคโรทีน ซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกาย พบมากในผักและผลไม้ที่มีสีเหลือง ส้ม แสด แดง เช่น แครอท ฟักทอง มะละกอสุก และผักใบเขียวเข้ม เช่น ตำลึง ผักบุ้ง กวางตุ้ง บร็อคโคลี่

วิตามินเอทนกรด ด่าง และความร้อนได้ดีพอสมควร ในการประกอบอาหาร เช่นการทำอาหารกระป๋อง วิตามินเอจะถูกทำลายไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่การแช่แข็งอาจลดปริมาณวิตามินเอในอาหาร

วิตามินเอเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ ได้แก่

- ช่วยในการมองเห็นในที่มืด

- ช่วยบำรุงรักษาเซลล์ชนิดบุผิวให้ชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา เช่น เยื่อบุตาขาว เยื่อบุทางเดินหายใจ เยื่อบุทางเดินอาหาร เยื่อบุทางเดินปัสสาวะ และเยื่อบุหูชั้นกลาง เป็นต้น

- ช่วยในการสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง

- ช่วยให้ระบบสืบพันธุ์ทำงานได้ตามปกติ เช่น การสร้างตัวอสุจิในผู้ชายและระบบประจำเดือนของผู้หญิง และจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

- ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง

- เบต้าแคโรทีนทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง และความผิดปกติของไขมันในร่างกาย ซึ่งทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว

แต่เดิม วิตามินเอมีหน่วยเป็นหน่วยสากล (International Units หรือ IU) ต่อมาได้กำหนดหน่วยวิตามินเอเป็น Retinal Equivalents (RE) อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์วิตามินเอบางชนิดก็ยังใช้หน่วย IU เหมือนเดิม

คนทั่วไปต้องการวิตามินเอวันละประมาณ 800-1,000 RE แต่ภาวะบางอย่างอาจทำให้ร่างกายต้องการวิตามินเอเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะท้องร่วง โรคตา โรคลำไส้ การติดเชื้อเป็นเวลานาน โรคหัด โรคตับอ่อน การผ่าตัดเอากระเพาะอาหารออกบางส่วน ความเครียดแบบต่อเนื่อง การรับประทานยาคุมกำเนิด ทารกที่ได้รับนมชนิดที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น

ผลของการขาดวิตามินเอ

การขาดวิตามินเออาจนำไปสู่ภาวะตาบอดกลางคืน หรือปัญหาการมองเห็นในที่มืด รวมทั้งทำให้ตาแห้ง ตาติดเชื้อ
ผิวหนังจะแห้ง หนาขึ้น และหยาบเป็นเกล็ด ผมและขนจะแห้งและร่วง เล็บเปราะ นอกจากนี้จะทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ชนิดบุผิวของอวัยวะต่าง ๆ เช่น

- ระบบทางเดินหายใจ อาจมีการอักเสบในช่องจมูก ช่องปาก ต่อมน้ำลาย เจ็บคอบ่อยๆ หูอักเสบ การอักเสบเหล่านี้จะเป็นๆ หายๆ เพราะเยื่อบุอวัยวะเหล่านี้แห้งตายหรือสลายตัว ทำให้เกิดการติดเชื้อโรคได้ง่าย

- ระบบทางเดินอาหาร อาจทำให้ปาก คอ ลิ้น และเหงือกอักเสบ เป็นแผลที่กระเพาะอาหารและลำไส้ได้ง่าย อาจมีอาการท้องร่วง
- ระบบปัสสาวะ มักมีการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ เกิดปฏิกิริยาทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนเป็นด่าง ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดนิ่วในไตและกระเพาะปัสสาวะ

การขาดวิตามินเอยังทำให้การเจริญเติบโตช้าลง กระดูกจะหนา ใหญ่ และหมดสมรรถภาพในการโค้งงอ ส่วนฟันนั้นจะมีการลอกหลุดของเคลือบฟัน เหลือแต่เนื้อฟัน ทำให้ฟันผุได้ง่าย
นอกจากนี้ยังเจ็บป่วยง่ายเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันโรคต่ำ ง่ายต่อการแพ้สิ่งต่างๆ เบื่ออาหาร ความรู้สึกรับรสและกลิ่นไม่ดี

ผลของการได้รับวิตามินเอมากเกินไป

โดยปกติแล้ว วิตามินเอมักจะไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงใดๆ เมื่อใช้ตามปริมาณที่แนะนำ อย่างไรก็ตาม การได้รับวิตามินเอในปริมาณสูงอาจเกิดการสะสมในร่างกายและเป็นพิษได้ใน 2 ลักษณะ คือ

- พิษเฉียบพลัน เกิดขึ้นเมื่อได้รับในปริมาณสูงมากๆ เช่น รับประทานตั้งแต่ 1 ล้านหน่วยหรือมากกว่า อาการสำคัญคือปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง ง่วงนอน อ่อนเพลีย มองเห็นภาพซ้อน กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน ถ้าได้รับวิตามินเอในปริมาณที่สูงกว่านี้มากๆ อาจถึงแก่ความตายได้ เพราะระบบหัวใจไม่ทำงาน

- พิษเรื้อรัง เกิดจากการรับประทานวิตามินเอวันละประมาณ 1 แสนหน่วยเป็นเวลานาน มักพบในคนไข้โรคผิวหนังที่ได้รับการรักษาด้วยวิตามินเอปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน อาการสำคัญ คือ เวียนศีรษะ ผิวหนังหยาบกร้าน เป็นขุย และคัน ผมร่วง เล็บเปราะ ริมผีปากแห้งแตก เหงือกอักเสบ ปวดข้อกระดูกและข้อต่อ หากหยุดรับประทานวิตามินในปริมาณมากๆ อาการก็จะหายไป

หญิงตั้งครรภ์ที่รับประทานวิตามินเอในปริมาณสูงถึงวันละ 25,000 IU (7,500 RE) เป็นเวลานาน อาจทำให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ พิการ หรือแท้งได้

ผู้ที่ได้รับแคโรทีนในปริมาณสูง จะทำให้ผิวหนังบริเวณร่องจมูก ฝ่ามือและฝ่าเท้ามีสีเหลือง เนื่องจากแคโรทีนถูกขับออกมาจากต่อมน้ำมันของผิวหนัง ต่างจากโรคดีซ่านคือตาจะไม่เหลือง อาการดังกล่าวจะหายไป เมื่องดบริโภคอาหารที่มีแคโรทีนสูง

ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ เป็นโรคติดสุราหรือเคยมีประวัติ เป็นโรคตับ โรคไต หรือรับประทานยาประจำตัว หากจะรับประทานอาหารเสริมวิตามินเอ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะการใช้วิตามินเออาจมีผลต่อโรคที่เป็นอยู่

วิตามินเอถูกทำลายได้ง่ายเมื่อได้รับความร้อนสูงมากๆ ในอากาศ แสงแดด และในไขมันที่เหม็นหืน จึงควรเก็บใส่ขวดสีน้ำตาล อย่าเก็บในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างจานในครัว หรือบริเวณที่เปียกชื้น เพราะความร้อนหรือความชื้นอาจทำให้อาหารเสริมเสื่อมสภาพได้