วันเสาร์, มกราคม ๐๖, ๒๕๕๐

รู้จักโรคหลอดเลือดสมองแตก

เวลา 03.00 น. ของวันที่ 3 มี.ค. 47 คุณลินดา ค้าธัญเจริญ เข้ารับการรักษาอาการเส้นเลือดในสมองแตกที่ห้องไอซียู ชั้น 4 รพ.กรุงเทพ เพื่อเจาะเลือดในสมองออกโดยด่วน จากการเอ็กซเรย์สมองพบว่าเส้นเลือดในสมองแตกและมีก้อนเลือดขนาด 5 ซม.กดทับแกนสมอง ทีมแพทย์ศูนย์สมองโรงพยาบาลกรุงเทพ แถลงหลังแพทย์ได้ผ่าตัดนำก้อนเลือดใหญ่ขนาด 5 เซนติเมตร ที่กดทับแกนสมองเพื่อช่วยชีวิตเสร็จสิ้นลง ว่าขณะนี้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น มีการตอบสนองดีขึ้น แต่ยังต้องอยู่ในห้องไอซียูเพื่อพักฟื้นและดูอาการอย่างใกล้ชิด ยังต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ แต่สามารถหายใจได้ด้วยตัวเองพร้อมกับใช้เครื่องหายใจ ม่านตาเล็กลง คาดว่าแนวโน้มของการตอบสนองจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น แต่ขณะนี้ยังต้องระวังการติดเชื้อจากการผ่าตัดและเชื้อจากภายนอก หรืออาจจะมาจากบุคคลที่เข้าไปเยี่ยม รวมไปถึงอาการของสมองบวม ซึ่งควรจะระวังในเวลา 72 ชั่วโมง

แพทย์คาดว่าเส้นเลือดในสมองแตกก่อนที่จะล้ม แต่ไม่มีโอกาสที่ลินดาจะเป็นอัมพาตเพราะกล้ามเนื้อซีกซ้ายที่ไม่ตอบสนองในครั้งแรก ขณะนี้เริ่มขยับได้ แต่ยังอ่อนแรง เนื่องจากก้อนเลือดที่ออกจากสมองได้เข้าไปทำลายเนื้อสมอง ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าสมองส่วนไหนเสียหาย ยังคงรักษาและเตรียมพร้อมให้สมองส่วนที่ดีฟื้นตัวเร็วที่สุด ขณะนี้คงยังใช้ท่อดูดเลือดจากแผลที่เกิดจากการผ่าตัดออกมาด้วย ซึ่งจำนวนเลือดที่พบถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ หลังจากฟื้นตัวคงจะต้องกายภาพบำบัดเพื่อให้แขนขาด้านซ้ายที่อ่อนแรงและกลับมาใช้ได้เหมือนเดิม แม้ว่าอาจจะไม่เหมือนปกติ แต่ไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม อาการล่าสุดของ "ลินดา ค้าธัญเจริญ" ขณะนี้มีอาการดีขึ้น มีการตอบสนองมากขึ้น ไม่มีอาการแทรกซ้อน รับรู้เข้าใจโต้ตอบทำตามคำตอบได้ เมื่อถามว่าสู้ไหม "ลินดา" สามารถยกมือชูสองนิ้วขวาได้ เป็นสัญญาณบ่งบอกที่ดีลดความกังวลใจลง คณะแพทย์แถลงว่าขณะนี้คุมอาการได้หมดแล้ว แต่สิ่งที่กังวลที่สุดคือการติดเชื้อและอาการสมองบวม ข้อมูลบางประการเกี่ยวกับโรคเส้นเลือดในสมองแตก

โรคหลอดเลือดสมอง โดยทั่วไปมักเรียกว่า โรคอัมพฤกษ์ หรือ อัมพาต โรคนี้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน และโรคหลอดเลือดสมองแตก โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันอาจเกิดจากการตีบตันที่หลอดเลือดสมองเอง หรือเกิดจากการมีลิ่มเลือดหลุดจากที่อื่น เช่น จากหัวใจและจากหลอดเลือดที่บริเวณคอมาอุดตันหลอดเลือดสมอง ทำให้สมองบางส่วนขาดเลือด ส่วนโรคหลอดเลือดสมองแตกเกิดจากการแตกของหลอดเลือดสมอง ทำให้มีเลือดออกมาคั่ง และทำลายเนื้อสมองในบริเวณนั้น นอกจากนี้อาจกดเบียดสมองส่วนที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้สมองส่วนนั้นทำหน้าทั่ไม่ได้ตามปกติ เกิดอาการอัมพฤกษ์หรืออัมพาต

สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ได้แก่ หลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) เกิดจากการเสื่อมของผนังหลอดเลือด มีไขมัน และหินปูนมาจับ พบได้ทั้งในหลอดเลือดสมองเอง และหลอดเลือดใหญ่ที่คอ มักพบในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง หรือผู้ที่สูบบุหรี่ บางคนเกิดจากโรคหัวใจที่มีลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมอง เช่น โรคลิ่มหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ส่วนน้อยเกิดจากหลอดเลือดสมองอักเสบและโรคเลือดบางชนิด

ส่วนสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองแตกที่สำคัญที่สุด คือ โรคความดันโลหิตสูง บางรายอาจเกิดจากหลอดเลือดสมองผิดปกติแต่กำเนิด เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดของร่างกาย ทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานทุกระบบ เช่น การเคลื่อนไหว ระบบประสาทสัมผัสต่างๆเป็นต้นสมองในตำแหน่งต่างๆ ทำหน้าที่แตกต่างกันไป ดังนั้นอาการของโรคหลอดเลือดสมองจึงเกิดขึ้นได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดโรคหากสมองส่วนใดสูญเสียการทำงานไป ก็จะเกิดอาการผิดปกติของร่างกายในระบบที่สมองบริเวณนั้นควบคุมอยู่ อาการมักเกิดอย่างรวดเร็วหรือทันทีทันใด เนื่องจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยงทันที แต่ในบางครังอาจมีอาการแบบเป็นๆ หายๆ หรือค่อยๆเป็นมากขึ้นเรื่อยๆในระยะเวลาอันสั้น

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง

อาการที่พบบ่อยมีหลายอย่าง ได้แก่ อ่อนแรงของร่างกายครึ่งซีก ชาครึ่งซีก เวียนศรีษะ ร่วมกับเดินเซ ตามัว หรือมองเห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง ปวดศรีษะ อาเจียน ซึม ไม่รู้สึกตัว ที่สำคัญคืออาการดังกล่าวข้างต้น หากเกิดขึ้นและหายไปในเวลาอันรวดเร็ว ถือเป็นอาการเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง ท่านควรไปพบแพทย์ด่วน พึงระลึกไว้เสมอว่าเมื่อมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีอย่ามัวรอดูอาการ

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ โรคหัวใจ สูงอายุ แอลกอฮอล์ ไขมันในเลือดสูง และขาดการออกกำลังกาย ดังนั้นการป้องกันโรคนี้จึงควรตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละครั้ง งดสูบบุหรี่ ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมรัดับน้ำตาลในเลือด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดอาหารรสเค็มและไขมันสูง และควรได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์เป็นประจำ

ศึกษาเพิ่มเติม เกี่ยวกับ น้ำมันปลา

ไม่มีความคิดเห็น: