วันพุธ, สิงหาคม ๑๖, ๒๕๔๙

ท้องผูกแก้ไขได้

“ท้องผูก” ไม่ใช่อาการร้ายแรงขนาดถึงกับต้องพึ่งพาแพทย์เพื่อช่วยบำบัดรักษา แต่ก็เป็นอาการที่ก่อปัญหาให้กับคนทุกเพศทุกวัย ท้องผูกเป็นอาการที่ถ่ายยาก เนื่องจากอุจจาระแข็ง ใช้เวลานานขึ้นกว่าจะถ่ายหรือไม่ถ่ายเลยเป็นเวลาอย่างน้อย 3 วันติดต่อกัน แต่ในบางคนที่ถ่ายทุกวัน ถ้าไม่ถ่ายเลยสักวันเจ้าตัวก็คือว่าท้องผูกแล้ว

ปกติแล้วอาการท้องผูกนั้นเป็นปัญหาชั่วคราวที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทาง หรือรับประทานผักผลไม้ลดลง ดื่มน้ำน้อยลง สาเหตุเหล่านี้แก้ไขได้ไม่ยาก โดยการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น น้ำพรุนสกัด หรือลูกพรุนแห้ง มะขาม มะละกอ ส้ม เป็นต้น ในคนสูงอายุ เช่น 50 ปีขึ้นไป จะพบว่าอาการท้องผูกเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากขาดการออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวน้อยลง รับประทานอาหารที่เคี้ยวง่าย ซึ่งมีกากใยอาหารน้อยลงและดื่มน้ำน้อยลง

อาการท้องผูก ไม่เพียงแต่สร้างความอึดอัดให้กับท่านเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้สุขภาพของท่านเสื่อมตามไปด้วย เช่น โรคริดสีดวงทวาร ซึ่งพบในผู้สูงอายุถึง 50% ในจำนวนผู้ที่มีปัญหาท้องผูกเรื้อรัง และหากยิ่งปล่อยให้อาการท้องผูกรบกวนโดยไม่หาทางแก้ไข ผลที่ร้ายที่สุดที่จะตามมาถึงตัวท่านก็คือ ท่านจะเสี่ยงภัยต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ที่สามารถคร่าชีวิตท่านได้

ในรายที่มีอาการท้องผูกรุนแรงมาก จะต้องประสบกับปัญหาการถ่ายยาก เพราะในขณะที่ขับถ่ายต้องใช้แรงเบ่งมากกว่าปกติ ทำให้เส้นเลือดบริเวณรอบๆ ทวารหนักพอกตัว เมื่ออุจจาระที่แข็งตัวเคลื่อนผ่านทวารหนัก ก็จะเกิดการเสียดสี ทำให้เป็นแผลเลือดออกได้ ซึ่งจะสร้างความเจ็บปวดทรมานยิ่งนัก ทำให้ยิ่งไม่อยากถ่าย ผลที่ตามมาก็คือทำให้ท้องผูกมากยิ่งขึ้น และในที่สุดก็จะนำไปสู่โรคริดสีดวงทวาร

กลเม็ดในการแก้ไขหรือบำบัดรักษาอาการท้องผูกนั้น มีดังนี้

1.เพิ่มอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ซึ่งประกอบด้วยข้าวซ้อมมือ ถั่วต่างๆ เพิ่มผักผลไม้ต่างๆ
2.ดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนๆ หรืออาหารร้อนๆ (แต่ไม่ถึงกับลวกปาก) ในตอนเช้า เพราะอาหารร้อนจะช่วยกระตุ้นลำไส้เคลื่อนไหวตัวได้มากขึ้น
3.ดื่มน้ำสะอาดให้มากกว่าที่เคยดื่มในแต่ละวัน คือ ประมาณวันละ 6-8 แก้ว เพื่อให้กากใยอาหารที่รับประทานเข้าไปสามารถทำงานได้ดีขึ้น

วิธีการดังกล่าวนี้ นับเป็นการแก้ไขปัญหาอาการท้องผูกที่ได้ผล ปลอดภัย และยังได้สารอาหารที่มีประโยชน์จากผักผลไม้และธัญพืช แต่ข้อสำคัญการเพิ่มกากใยอาหารอย่าเพิ่มอย่างผลีผลาม ควรเพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ผักผลไม้และธัญพืชโดยทั่วไปมีเส้นใยอาหาร 2 ชนิดด้วยกัน คือ เส้นใยชนิดที่ไม่ละลายน้ำ และชนิดที่ละลายน้ำ โดยชนิดไม่ละลายน้ำจะให้ผลในการขับถ่ายและขจัดของเสียออกจากร่างกาย ขณะที่ชนิดที่ละลายน้ำมีบทบาทสำคัญในการลดคอเลสเตอรอล และการทำงานของเส้นใยอาหารจะต้องอาศัยน้ำจึงจะทำงานได้ดี

ผักและผลไม้ที่มีกากใยมากและเป็นที่รู้จักกันดีมีหลายชนิดด้วยกัน อาทิ พรุน มะขาม ส้ม มะละกอ ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักโขม ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ฯลฯ เส้นใยอาหารที่อยู่ในผักผลไม้เหล่านี้ ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ เมื่อย่อยไม่ได้ร่างกายก็จะขับถ่ายออกมาพร้อมกับของเสียอื่นๆ จึงทำให้ขับถ่ายได้สะดวก ไม่มีปัญหาของเสียคั่งค่างในร่างกาย ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขจัดสารพิษที่ตกค้างในลำไส้ออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น ป้องกันโรคลำไล้ใหญ่อักเสบ โรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่และลดปัญหากลิ่นปากจากท้องผูก เป็นต้น

ในบรรดาผลไม้ไทยและเทศที่มีกากใยสูงติด 5 อันดับแรกได้แก่ พรุน มะเดื่อแห้ง มะขามหวาน แอปเปิ้ล และส้ม สำหรับพรุนและมะขามหวานได้ชื่อว่าเป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นยาระบายตามธรรมชาติที่สามารถแก้ไขอาการท้องผูกได้ดียิ่งนัก พรุนเป็นผลไม้ที่ให้ผลทางด้านโภชนบำบัดสำหรับคนที่มีปัญหาทางระบบขับถ่าย ริดสีดวงทวารและโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคลไส้โป่ง ส่วนในเด็กเล็กที่ท้องผูกอาจใช้น้ำพรุนในอัตรา 1 ต่อ 1 ให้ดื่ม ช่วยระบายท้องให้ถ่ายสะดวกขึ้น แต่ถ้าหากเป็นน้ำพรุนสกัดที่เข้มข้นก็จะต้องเจือจางกับน้ำมากขึ้น ส่วนพรุนแห้งอาจต้องระวังในเรื่องปริมาณที่รับประทาน เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างเข้มข้น หากรับประทานมากๆ และบ่อยๆ ก็จะเพิ่มแคลอรี่ให้กับผู้ใหญ่ที่ปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวเกินได้

นอกจากการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง และดื่มน้ำมากขึ้นแล้ว ก็ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้กล้ามเนื้อในระบบย่อย และขับถ่ายทำงานดีขึ้น

สำหรับบางท่านที่มีอาการท้องผูกรุนแรงมากเป็นพิเศษที่อาจต้องใช้ยาระบายช่วย ก็ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาระบายนั้น เพราะหากมีการใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้ตกเป็นทาสยาถ่าย หรือเกิดปัญหาอื่นตามมาได้

ไม่มีความคิดเห็น: